เชื้อเพลิงนิวเคลียร์

หมายถึง วัสดุเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นต้นกำเนิดพลังงานความร้อนในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่สำคัญคือ แร่ยูเรเนียม-235 (U-235) ซึ่งมีปริมาณเพียง 0.72% ของแร่ยูเรเนียมทั้งหมดที่มีอยู่ในธรรมชาติ

การนำแร่ยูเรเนียมมาใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จะต้องผ่านกระบวนการผลิตเพื่อแปลงสภาพให้อยู่ในรูปของเชื้อเพลิง และหลังจากการใช้งานจำเป็นต้องมีการจัดการเชื้อเพลิงที่เหมาะสม หรือในบางกรณีเชื้อเพลิงใช้แล้วจะถูกนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยกระบวนการทั้งหมดของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์นัั้นอยู่ในรูปแบบของวัฏจักร เรียกว่า วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (Nuclear Fuel Cycle)
Image

วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

เป็นกระบวนการนำยูเรเนียม-235 มาแปลงสภาพให้อยู่ในรูปของเชื้อเพลิง ขั้นตอนโดยสังเขป ได้แก่ การทำเหมือง การสกัด การแปลงสภาพ การทำให้เข้มข้น (Enrichment) การสร้างและประกอบมัดเชื้อเพลิง (Assembly) รวมไปถึงการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้ว

วัฎจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
 แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วน Front End ที่ซึ่งเป็นกระบวนการการเตรียมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ไปจนกระทั่งกระบวนการใช้งานเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า และส่วน Back End ที่จำเป็นจะต้องมีการเก็บรักษาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วอย่างปลอดภัย รวมถึงกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วด้วย

วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ Front End

การทำเหมืองและการบดแร่

        เป็นสองกระบวนการแรกของวัฎจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ยูเรเนียมเป็นโลหะที่มีอยู่มากมายใต้ผิวโลก เราสามารถพบแร่ยูเรเนียมได้ทั้งในหินและดิน หรือแม้กระทั่งในแม่น้ำหรือน้ำทะเล การทำเหมืองยูเรเนียมมีหลายวิธี ทั้งการทำเหมืองแบบเปิด เมื่อแหล่งแร่อยู่ใกล้ผิวดิน (Open Pit Mining) การทำเหมืองแบบใต้ดิน ในกรณีที่แหล่งแร่อยู่ลึกจากผิวดินมากกว่า 120 เมตร (Underground Mining) หรือการทำเหมืองละลายแร่ (In situ leaching Mining) ซึ่งการทำเหมืองแบบละลายแร่จะได้ยูเรเนียมในรูปของสารละลาย ทำให้ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการบดแร่เหมือนการทำเหมืองแบบเปิดและการทำเหมืองแบบใต้ดิน 
        ยูเรเนียมที่ได้จากเหมืองแบบเปิดและแบบใต้ดินจะถูกนำมาบดให้ละเอียดแล้วนำไปชะละลาย (leaching) ด้วยกรดหรือด่างเข้มข้น เพื่อแยกยูเรเนียมออกจากสารเจือปนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังผ่านการสกัดด้วยตัวทำละลายหรือกระบวนการแลกเปลี่ยนไอออน และทำให้ตกตะกอนในรูปของยูเรเนียมออกไซด์ (U3O8) ซึ่งเป็นยูเรเนียมเข้มข้นที่เรียกว่า เค้กเหลือง (yellowcake) ก่อนจะถูกส่งต่อไปผ่านกระบวนการเพื่อเปลี่ยนรูปและเสริมสมรรถนะยูเรเนียมต่อไป

การเปลี่ยนรูปยูเรเนียมและกระบวนการเสริมสมรรถนะ

        หลังจากที่ได้ยูเรเนียมเข้มข้น (yellowcake: U3O8) จากการทำเหมืองแร่แล้ว ยูเรเนียมจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (UF6) ซึ่งมีสถานะก๊าซที่อุณหภูมิต่ำ เรียกกระบวนการนี้ว่า กระบวนเปลี่ยนรูปยูเรเนียม ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนของการเสริมสมรรถนะ เนื่องจากในธรรมชาติมีธาตุยูเรเนียม-235 (U-235) เพียง 0.7% ส่วนที่เหลือเป็นไอโซโทปของธาตุยูเรเนียม-238 (U-238)  ซึ่งยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพื่อเกิดปฏิกิริยาฟิชชั่นในเครื่องปฏิกรณ์ ต้องใช้ยูเรเนียม-235 ที่มีความเข้มข้น 3.5- 5% จึงต้องนำ U-235 มาผ่านกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นที่เรียกว่า กระบวนการเสริมสมรรถนะ (Enrichment)
        กระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ที่นิยมใช้โดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ กระบวนการแพร่ก๊าซ และ วิธีการหมุนเหวี่ยงก๊าซ ซึ่งกระบวนการทั้งสองจะใช้ยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (UF6) ในรูปก๊าซเป็นวัตถุดิบ และจะทำงานโดยอาศัยความแตกต่างของมวลระหว่าง U-235  และ U-238 ที่แตกต่างกันเพียง 1% ในการแยกไอโซโทปของธาตุทั้งสองออกจากกัน โดยหลังจากกระบวนการนี้จะได้ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่มีความเข้มข้นของ U-235 ประมาณ 3.5-5% ในรูปของยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (UF6)
        

เค้กเหลือง (yellowcake) / Credit: IAEA

กระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมแบบแพร่ก๊าซ

Image

กระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมแบบหมุนเหวี่ยง

Image
Fuel rods / Credit: IAEA

การประกอบเชื้อเพลิง (Fuel Fabrication)

เป็นการนำยูเรเนียมที่เสริมสมรรถนะแล้วมาประกอบเป็นแท่งเชื้อเพลิง เริ่มต้นจากการเปลี่ยนยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (UF6) ให้อยู่ในรูปของผงยูเรเนียมไดออกไซด์ (Uranium dioxide: UO2) แล้วนำไปอัดเป็น เม็ดเชื้อเพลิง (Fuel pellet) โดยเม็ดเชื้อเพลิงที่ได้จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร สูงประมาณ 2 เซนติเมตร เม็ดเชื้อเพลิงที่ขึ้นรูปแล้วจะถูกนำไปเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,400 องศาเซลเซียส เพื่อให้มีความหนาแน่นสูงและไม่แตกง่าย จากนั้นจะผ่านกระบวนการแต่งผิวให้เรียบ ก่อนจะนำเม็ดเชื้อเพลิงไปบรรจุใน แท่งเชื้อเพลิง (Fuel rods) ซึ่งเป็นท่อยาว ทำจากวัสดุที่มีความทนทานต่อการกัดกร่อน แรงอัด และอุณหภูมิสูง หลังจากนั้นแท่งเชื้อเพลิงจะถูกนำมาประกอบรวมกัน เรียกว่า มัดเชื้อเพลิง (Fuel bundle หรือ Fuel assembly) ซึ่งจะถูกนำไปใช้งานในเครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป
        

วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ Back End


        เป็นกระบวนการต่าง ๆ ที่กระทำต่อเชื้อเพลิงใช้แล้วหลังนำออกจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อันประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การเก็บเชื้อเพลิงชั่วคราว กระบวนการคืนสภาพเชื้อเพลิง หรือการกำจัดเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว 
        เชื้อเพลิงใช้แล้วเมื่อนำออกจากเครื่องปฏิกรณ์จะยังมีความร้อนและมีกัมมันตภาพรังสีที่สูงมาก เนื่องจากการสลายตัวของผลผลิตที่เกิดจากปฏิกิริยาฟิชชัน ปกติจะเก็บมัดเชื้อเพลิงใช้แล้วชั่วคราวในสระน้ำที่อยู่ภายในอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้า สระน้ำที่ใช้จัดเก็บเชื้อเพลิงชั่วคราวจะสร้างจากคอนกรีตบุด้วยเหล็กกล้า มีความลึกประมาณ 8 เมตร โดยมีน้ำทำหน้าที่ป้องกันกัมมันตภาพรังสีและช่วยลดความร้อนจากเชื้อเพลิงใช้แล้ว
        ความร้อนและกัมมันตภาพรังสีจากมัดเชื้อเพลิงใช้แล้วจะลดลงตามระยะเวลา โดยมัดเชื้อเพลิงจะถูกเก็บไว้ในบ่อน้ำภายในโรงไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน แล้วจึงเคลื่อนย้ายต่อไปยังโรงงานคืนสภาพเชื้อเพลิงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือถูกนำไปจัดเก็บในสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป
บ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว Credit: IAEA / Kernkraftwerk Gösgen-Däniken AG 
อ้างอิง:
1.Wikimedia Commons. (June 17, 2015). Fuel Pellet [Online] https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Fuel_Pellet.jpg#/media/File:Fuel_Pellet.jpg
2.Wikimedia Commons. (August 18, 2006). Gas centrifuge cascade[Online]https://en.wikipedia.org/wiki/Enriched_uranium#/media/File:Gas_centrifuge_cascade.jpg