อุบัติเหตุทางรังสี

อุบัติเหตุทางรังสีและหลักปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินทางรังสี…โดย พูลสุข พงษ์พัฒน์ ผู้อำนวยการกองการวัด พปส.

          การปฏิบัติเกี่ยวกับรังสีนั้น แม้จะมีการเตรียมการที่ดี มีความพร้อมในด้านสถานที่ ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ/อุปกรณ์เหมาะสม บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดี ทั้งทางด้านการใช้ประโยชน์จากรังสีตามลักษณะของงานนั้น และการเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสีที่เหมาะสม รวมทั้งมีมาตรการแนวปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานครบถ้วนก็ตาม บางครั้งก็อาจเกิดเหตุสุดวิสัยซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้

          อุบัติเหตุทางรังสี หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายเกี่ยวข้องกับรังสี ต้นกำเนิดรังสีอันเป็นผลให้ไม่สามารถควบคุมต้นกำเนิดรังสี ปริมาณรังสีให้อยู่ในระดับที่กำหนดได้ และอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ปฏิบัติงาน ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป

สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ

    ปัจจุบันการใช้สารกัมมันตรังสี (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า สารรังสี) ในประเทศ ทั้งเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เกษตรกรรมและการศึกษาวิจัยต่างๆ นั้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางรังสีได้ สืบเนื่องจากสาเหตุโดยสรุป 3 ลักษณะ ได้แก่

  • สารรังสีสูญหาย ถูกโจรกรรมหรือทิ้งไว้โดยปราศจากการควบคุมดูแล เช่น สารรังสีที่ใช้ในงานถ่ายภาพด้วยรังสีเกิดหายไปจากที่เก็บ หรือนำสารรังสีที่เลิกใช้แล้ว ไปเก็บไว้ในที่ซึ่งไม่มีมาตรการป้องกันอันตรายจากรังสี
  • สารรังสีขาดเครื่องกำบังรังสี เกิดการค้างหรือหลุดออกมาจากเครื่องกำบังรังสี เนื่องจากเหตุขัดข้องขณะปฏิบัติงาน เช่น การค้างของสารรังสีที่ใช้ในงานถ่ายภาพด้วยรังสี ไม่สามารถนำลงคืนภาชนะเก็บซึ่งกำบังรังสีได้
  • สารรังสีแพร่กระจายออกจากที่เก็บหรือบริเวณที่ควบคุม เช่น เกิดการรั่วของสารรังสีขณะปฏิบัติงาน หรือมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถอดชิ้นส่วนหรือเครื่องมือซึ่งสารรังสีบรรจุอยู่ ทำให้สารรังสีแพร่กระจายออกไป

ภาวะฉุกเฉินทางรังสีและระดับของความร้ายแรง

     อุบัติเหตุทางรังสี แม้ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุเดียวกัน แต่ความร้ายแรงของสถานการณ์อาจต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น สภาพเหตุการณ์ คุณสมบัติของสารรังสี การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ ฯลฯ เป็นต้น บางครั้งความรุนแรงอาจขยายขอบเขตกว้างออกไป จนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้ สถานการณ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า “ภาวะฉุกเฉินทางรังสี” อาจแบ่งได้เป็น 4 ระดับ 

Image

หลักการปฏิบัติภาวะฉุกเฉินทางรังสี

      การดำเนินการต่างๆ ในภาวะฉุกเฉินทางรังสี มีเป้าหมายที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ ตามสาเหตุของอุบัติเหตุทางรังสีที่เกิดขึ้น แต่อาจมีมาตรการ และแนวการปฏิบัติงานในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะฉุกเฉินทางรังสีนั้นๆ

  • เป้าหมายการแก้ไขสถานการณ์ในแต่ละอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุที่เกิดจากสารรังสีสูญหาย ถูกโจรกรรม หรือทิ้งโดยปราศจากการควบคุมดูแล

- ต้องค้นหาสารรังสีให้พบ

- นำกลับไปเก็บไว้ในที่เก็บซึ่งมีความปลอดภัยทางรังสี หรือย้ายสถานที่เก็บไปยังที่ซึ่งมีมาตรการควบคุม / ป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างรัดกุม

- การปฏิบัติการทั้งหมด จะต้องควบคุมให้ได้รับปริมาณรังสีต่ำที่สุด เท่าที่สมควรจะยอมให้รับได้

- หากมีผู้ประสบอุบัติเหตุ จำเป็นต้องประเมินระดับปริมาณรังสีที่ผู้ประสบเหตุได้รับ เพื่อให้การรักษาพยาบาลได้ถูกวิธี

อุบัติเหตุเกิดจากการที่รังสีขาดเครื่องกำบังรังสี เกิดการค้างหรือหลุดออกมาจากเครื่องกำบังรังสี

- สร้างเครื่องกำบังรังสีใหม่ หรือนำสารรังสีเข้าเก็บไว้ในเครื่องกำบังรังสีที่มีอยู่

- การปฏิบัติงานทั้งหมดต้องควบคุมให้ได้รับปริมาณรังสีต่ำที่สุด เท่าที่สมควรจะยอมให้รับได้

- หากมีผู้ประสบเหตุ จำเป็นต้องประเมินระดับปริมาณรังสีที่ผู้ประสบเหตุได้รับ เพื่อให้การรักษาพยาบาลได้ถูกวิธี

อุบัติเหตุเกิดจากสารรังสีแพร่กระจาย

- ต้องขจัดความเปรอะเปื้อนรังสีให้แก่บุคคล เครื่องมือ และสถานที่ซึ่งมีการเปรอะเปื้อนรังสี

- รวบรวมเก็บ และกำจัดกากกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้น

- การปฏิบัติงานทั้งหมด ต้องควบคุมให้ได้รับปริมาณรังสีต่ำที่สุด เท่าที่สมควรจะยอมให้รับได้

- หากมีผู้ประสบเหตุ จำเป็นต้องประเมินระดับปริมาณรังสีที่ผู้ประสบเหตุได้รับ เพื่อให้การรักษาพยาบาลได้ถูกวิธี

ตัวอย่าง ขั้นตอนการระงับเหตุทางรังสี

Image

หน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ

         หน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานภาวะฉุกเฉินทางรังสี ได้แก่ หน่วยงานที่ใช้สารรังสีจนเกิดภาวะฉุกเฉินทางรังสี หน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับท้องถิ่น เช่น ตำรวจ หน่วยดับเพลิง โรงพยาบาล หน่วยงานฝ่ายปกครอง เป็นต้น และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานจะมีส่วนร่วมในการปฏิบัติมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และขอบเขตของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และในบางกรณีอาจมีความรุนแรง จนกระทั่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง

  • หน่วยงานที่ใช้สารกัมมันตรังสี มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นอันดับแรก ในการควบคุมการใช้สารกัมมันตรังสีให้เป็นไปอย่างปลอดภัย โดยการออกกฎระเบียบและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความปลอดภัยทางรังสี และมีความเสี่ยงภัยต่อการเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด
  • หน่วยงานที่ใช้สารกัมมันตรังสี ควรวางแนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยของสารกัมมันตรังสีที่ครอบครองอยู่ แนว ปฏิบัติในการตรวจระวังอุบัติเหตุ ซึ่งคาดว่าอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และแนวปฏิบัติในการแจ้งเหตุ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ทันท่วงที
  • หน่วยงานที่ใช้สารกัมมันตรังสี ควรมีแผนฉุกเฉินทางรังสีในการใช้สารกัมมันตรังสีที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด โดยให้มีขอบเขตครอบคลุมอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงแนวทางการประเมินและการแก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนมาตรการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก
  • หน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับท้องถิ่น มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอันตรายให้กับประชาชน ได้แก่ การดับเพลิง การรักษาพยาบาล การป้องกันประชาชนไม่ให้เข้าไปในพื้นที่อันตราย การให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานค้นหาสารกัมมันตรังสีที่เกิดสูญหาย ช่วยเหลือในการปฏิบัติงานควบคุมการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี รวมทั้งการแถลงข่าวตอบข้อซักถามให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบ
  • สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอันตรายจากรังสี ให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยหลังจากได้รับแจ้งอุบัติเหตุภาวะฉุกเฉินทางรังสีแล้ว ต้องดำเนินการประเมินสถานการณ์ และคาดคะเนขอบเขตของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ได้รับแจ้ง ประกอบกับข้อมูลจากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น เพื่อให้สามารถวางแผน และดำเนินการปฏิบัติงานได้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แนวปฏิบัติภาวะฉุกเฉินทางรังสี

การแจ้งเหตุฉุกเฉินทางรังสี

- หน่วยงานใดที่เกิดอุบัติเหตุทางรังสี ซึ่งมีสถานการณ์อันอาจก่อให้เกิด

  • มีผู้ได้รับปริมาณรังสีทั่วร่างกายตั้งแต่0.25 ซีเวิร์ท (25เรม) ขึ้นไป หรือได้รับปริมาณรังสีบริเวณ เท้า หัวเข่า มือ หรือแขน ตั้งแต่ 1.50 ซีเวิร์ท (150เรม) ขึ้นไป หรือได้รับปริมาณรังสีบริเวณเท้า หัวเข่า มือ หรือแขน ตั้งแต่ 3.75 ซีเวิร์ท (375 เรม) ขึ้นไป หรือ
  • ความเสียหายอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ ตั้งแต่1 สัปดาห์ขึ้นไป หน่วยงานนั้นจะต้องแจ้งเหตุฉุกเฉินทางรังสีให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติทราบทันที
  • มีผู้ได้รับปริมาณรังสีทั่วร่างกายตั้งแต่0.05 ซีเวิร์ท (5 เรม) ขึ้นไป หรือได้รับปริมาณรังสีบริเวณผิวหนังทั่วร่างกายตั้งแต่ 0.30 ซีเวิร์ท (30 เรม) ขึ้นไป หรือได้รับปริมาณรังสีบริเวณเท้า หัวเข่า มือ หรือแขน ตั้งแต่ 0.75 ซีเวิร์ท(75 เรม) ขึ้นไป หรือ
  • ความเสียหายอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ ตั้งแต่1 วันขึ้นไป หน่วยงานนั้นจะต้องแจ้งเหตุฉุกเฉินทางรังสีให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติทราบ ภายใน 24 ชั่วโมง

- ถ้าอุบัติเหตุทางรังสีที่เกิดขึ้น มีสถานการณ์ความรุนแรงน้อยกว่าที่กล่าวมาข้างต้น ให้แจ้งเหตุฉุกเฉินทางรังสีให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติทราบ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

- การแจ้งเหตุภาวะฉุกเฉินทางรังสี สามารถติดต่อแจ้งมายังสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีรายละเอียดสถานที่ และเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางรังสีดังนี้

 

สถานที่ติดต่อ 

สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ 

ถนนวิภาวดีรังสิต บางเขน 

กรุงเทพมหานคร 10900 

การแจ้งเหตุฉุกเฉินทางรังสี ต่อ ปส.

• โทรศัพท์เคลื่อนที่ 089-200-6243 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

• โทรศัพท์สายตรง 02-596-7699 (เวลาราชการ)

่• Email rmec@oap.go.th

• Line 089-200-6243 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

• FB (เฉพาะข้อความ) Radiation Emergency OAP (เวลาราชการ)

การควบคุมทางเข้าออก

  • มาตรการและขอบเขตการควบคุมทางเข้าออก ในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุทางรังสี ขึ้นอยู่กับชนิดของอุบัติเหตุ และระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีสารกัมมันตรังสีสูญหาย จะวางมาตรการควบคุมทางเข้าออกพื้นที่เกิดเหตุได้ ก็ต่อเมื่อพบสารกัมมันตรังสีนั้นแล้ว ส่วนในกรณีสารกัมมันตรังสีขาดเครื่องกำบังรังสีได้แก่ การที่สารกัมมันตรังสีค้าง หรือหลุดออกจากเครื่องกำบังรังสี การควบคุมทางเข้าออก จะมีขอบเขตเฉพาะในบริเวณที่มีระดับรังสีสูงกว่าปกติเท่านั้น และในกรณีเกิดอุบัติเหตุทางรังสี ซึ่งมีการเปรอะเปื้อนรังสี หรือคาดว่าจะมีการเปรอะเปื้อนนั้น การควบคุมทางเข้าออกอาจครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง
  • วิธีการควบคุมทางเข้าออกที่ดีที่สุด ได้แก่ การใช้สิ่งกีดขวางกำหนดขอบเขตพื้นที่ควบคุมทางเข้าออก เช่น ในกรณีอุบัติเหตุทางรังสีเกิดขึ้นภายในห้อง หรือภายในอาคาร อาจควบคุมทางเข้าออกโดยขวางประตูและควรติดตั้งเครื่องหมายแสดงบริเวณรังสีไว้บนประตูและหน้าต่างทุกบาน เพื่อป้องกันมิให้ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณพื้นที่ควบคุม ส่วนการควบคุมทางเข้าออกในพื้นที่ซึ่งมีบริเวณกว้าง อาจใช้เครื่องกีดขวางการจราจร เครื่องหมายแสดงบริเวณรังสีไว้บนประตูและหน้าต่างทุกบาน เพื่อป้องกันมิให้ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณพื้นที่ควบคุม ในสถานการณ์เช่นนี้อาจต้องปิดระบบระบายอากาศในพื้นที่ควบคุม
  • ในกรณีเกิดอุบัติเหตุทางรังสีที่มีการเปรอะเปื้อนรังสี ต้องพิจารณาสภาพภูมิอากาศในขณะนั้นแ ละการพยากรณ์ อากาศ ประกอบกับการใช้สิ่งกีดขวางเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ควบคุมทางเข้าออก
  • การเข้าหรือออกในบริเวณพื้นที่ควบคุม จะต้องผ่านจุดตรวจที่มีการควบคุมความปลอดภัยทางรังสี และเป็นศูนย์รวมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินทางรังสี ซึ่งในบางกรณีอาจมีการขจัดความเปรอะเปื้อนรังสีเบื้องต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าพื้นที่ควบคุมการเข้าออกเป็นพื้นที่เปิด ควรกำหนดจุดตรวจในบริเวณที่อยู่เหนือทิศทางลม ผู้ที่เข้าไปในพื้นที่ควบคุมทางเข้าออก ควรมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากรังสีตามความเหมาะสม เช่น เครื่องวัดรังสีประจำตัวบุคคล ชุดป้องกันอันตรายจากรังสี หน้ากากป้องกันสารกัมมันตรังสี เป็นต้น
  • ในกรณีเกิดอุบัติเหตุทางรังสี โดยมีภาวะฉุกเฉินทางรังสีระดับ1 และ 2 ซึ่งมีขอบเขตของสถานการณ์อยู่ภายในอาคาร หรือ ภายในหน่วยงานที่เกิดอุบัติเหตุ หน่วยงานที่เกิดอุบัติเหตุทางรังสีมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการกำหนดขอบเขตพื้นที่ และดำเนินการควบคุมทางเข้าออก แต่ถ้าสถานการณ์มีระดับภาวะฉุกเฉินทางรังสีรุนแรงกว่าระดับ 1 และ 2 แล้ว หน่วยงานที่เกิดอุบัติเหตุทางรังสี จะต้องขอความช่วยเหลือและคำแนะนำ จากหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดขอบเขตพื้นที่และดำเนินการควบคุมทางเข้าออก
© 2021 ส่วนงานพลังงานนิวเคลียร์และรังสี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

กองประกันคุณภาพและพลังงานนิวเคลียร์
Email : nuclearnews@egat.co.th โทร. 02-436-1966

นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล